Thai (ภาษาไทย)English (United Kingdom)

Home แพทย์ และ ทีมแพทย์
การสวนหัวใจและหลอดเลือด การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน และการ ปิดรูรั่วหัวใจด้วยสายสวน

การสวนหัวใจและหลอดเลือด (Cardiac Catheterization) เป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคทางหัวใจ โดยการใส่สายสวนขนาดเล็กเข้าไปในห้องหัวใจผ่านรูเข็มขนาดเล็กซึ่งแทงในหลอดเลือดแดงหรือดำบริเวณขาหนีบ หรือ ที่ข้อมือ (หลังจากยาชาออกฤทธิ์เต็มที่) ย้อนขึ้นไปที่หัวใจ เพื่อตรวจลักษณะของหลอดเลือดโดยฉีดสารทีบรังสี หรือ ใส่สายสวนเพื่อวัดความดันหรือตรวจระดับออกซิเจนในห้องหัวใจ  หลักการโดยทั่วไปคือหลอดเลือดบริเวณขาหนีบและข้อมือดังกล่าวนั้นเชื่อมกับหลอดเลือดแดงใหญ่และห้องหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ

การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน (Percutaneous Coronary Intervention)

หากผลการฉีดสีตรวจหลอดเลือดหัวใจพบว่าหลอดเลือดหัวใจตีบ สามารถให้การรักษาด้วยการใช้ลูกโป่งถ่างขยายหลอดลเลือดหัวใจตีบได้ในครั้งเดียวกัน การตรวจสวนหัวใจนี้ เป็นการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด สามารถรักษาได้ขณะหัวใจเต้น ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยเพียง 1% ใช้เวลาพักฟื้นเพียง 1-2 วัน หากไม่มีอาการแทรกซ้อน ก็สามารถกลับสู่ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

 

นอกจากนี้เทคนิกการสวนหัวใจสามารถนำมารักษาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือรูรั่วของหัวใจได้โดยไม่ต้องผ่าตัด อาทิเช่น

  • การปิดผนังรูรั่วในห้องหัวใจด้านบน (ASD) ด้วยเครื่องมือ
  • การปิดหลอดเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างหลอดเลือดแดงใหญ่กับหลอดเลือดดำใหญ่ ที่ปอด(PDA)
  • การปิดหลอดเลือดที่มีปริมาณมากกว่าปกติ(pulmonary AVM) หรือขนาดที่ใหญ่ผิดปกติ  เช่น aneurysm
  • การถ่างขยายโรคภาวะลิ้นหัวใจที่ตีบแต่กำเนิด  เช่น pulmonic valve stenosis
  • การถ่างขยายลิ้นหัวใจไมตรัลที่มีีการตีบ(mitral stenosis) โดยเฉพาะ โรคหัวใจรูมาติกส์
  • การรักษาที่อยู่ในช่วงการพัฒนาเพื่อการรักษาที่ดีมากขึ้น ทำให้สามารถสวนหัวใจเพื่อ
  • ปิดผนังห้องหัวใจด้านล่างรั่วแต่กำเนิด (VSD)
  • การถ่างขยายลิ้นหัวใจชนิดเอออติกส์ที่ตีบรุนแรง(severe aortic stenosis)ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงจากการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ

 

ห้องปฏิบัติการการสวนหัวใจและหลอดเลือด ของศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งอยู่ ณ ตึก ภูมิสิริ ชั้น 4  7.30-16.30 วันจันทร์-ศุกร์ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์

 

สำหรับแพทย์ที่ต้องการติดต่อส่งต่อผู้ป่วย ติดต่อแพทย์ประจำหอผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจ (ซีซียู) 02-2564570 (เบอร์ตรง, fax)

ขั้นตอนการนัดหมายวันสวนหัวใจ

  1. บันทึก และขึ้นทะเบียนประวัติผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
  2. รับการตรวจหรือประเมินโดยอายุรแพทย์โรคหัวใจ
  3. ผู้ป่วยสามารถทำการนัดหมายวันตรวจการสวนหัวใจได้ ณ ตึกภูมิสิริฯชั้น 4 โดยที่จะต้องเตรียมเอกสารสำคัญ เช่น เอกสารที่แสดงสิทธิ์ในการรักษา อาทิ สิทธิ์ข้าราชการจากต้นสังกัด สิทธิ์ประกันสังคมทั้งใน และนอกสิทธิ์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  สิทธิ 302 ประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาท

ในผู้ป่วยฉุกเฉินที่เกิดอาการเจ็บหน้าอก หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจ ขาดเลือดเฉียบพลัน (acute myocardial infarction) สามารถรับการตรวจและวินิจฉัยได้ที่ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตลอด 24 ชั่วโมง

 

สำหรับแพทย์และเจ้าหน้าที่ศูนย์โรคหัวใจฯ

การส่งเสริมสุขภาพผู้ป่วย

Statistics

จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 13674241