การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ คือ อะไร
การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ Cardiac Computed Tomography (Cardiac CT) เป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงซึ่งสามารถสร้างภาพได้ 320 ภาพต่อการหมุนหนึ่งรอบ ทำให้สามารถตรวจหัวใจซึ่งเป็นอวัยวะที่เคลื่อนไหวตลอดเวลาได้ โดยเครื่องจะสร้างภาพหัวใจและหลอดเลือดหัวใจที่มีขนาดเล็กได้คมชัด ทำให้เห็นรอยโรคได้ชัดเจนกว่าการตรวจด้วยเครื่องเอกซ์เรย์ธรรมดา (ดังรูป) ในการตรวจบางกรณีอาจจำเป็นต้องมีการฉีดสารทึบรังสีเข้าทางหลอดเลือดดำเพื่อให้ได้รายละเอียดของภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนหลักๆ ได้แก่
- การตรวจหาปริมาณแคลเซียมที่เกาะหลอดเลือดหัวใจ
- การตรวจหาภาวะอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ
- การตรวจดูประสิทธิภาพในการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ
ข้อบ่งชี้ของการตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
- เพื่อวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- เพื่อวินิจฉัยและตรวจดูลักษณะก้อนเนื้องอกในหัวใจ
- เพื่อวินิจฉัยโรคที่มีความผิดปกติของเยื่อหุ้มหัวใจ
- เพื่อวินิจฉัยโรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด
- เพื่อวินิจฉัยโรคที่มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจ
- เพื่อติดตามผลการรักษาหลังใส่บอลลูนขยายเส้นเลือดหัวใจ (percutaneous coronary intervention) หรือ ภายหลังการผ่าตัดต่อเส้นเลือดหัวใจ (bypass graft)
ข้อห้ามของการตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
- ไตวายเรื้อรัง/เฉียบพลันที่มีค่าครีเอตินิน (creatinine)ในเลือดมากกว่า 1.5 มก./ดล. เนื่องจากการฉีดสารทึบรังสีอาจมีผลทำให้ไตทำงานน้อยลงชั่วคราวได้ ดังนั้นก่อนที่จะเข้ารับการตรวจด้วยวิธีนี้ ผู้ป่วยจะต้องตรวจเลือดดูการทำงานของไตก่อนทุกราย
- ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง หรือมีอัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 75 ครั้งต่อนาที
- ผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้สารทึบรังสี
- ผู้ป่วยตั้งครรภ์
ความเสี่ยงหรืออันตรายที่เกิดจากการตรวจ
การตรวจด้วยวิธีนี้ถือว่ามีความปลอดภัยสูงเมื่อเทียบกับการฉีดสีสวนหัวใจ แต่ก็ยัง มีความเสี่ยงหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ
- แพ้สารทึบรังสี อาจทำให้มีผื่นหรือลมพิษ หรือหายใจไม่สะดวกจากหลอดลมตีบ ใน
- รายที่แพ้รุนแรงอาจมีความดันโลหิตต่ำได้ ในทางปฏิบัติเราจะหลีกเลี่ยงไม่ตรวจในผู้ที่มีประวัติแพ้อาหารทะเล หรือแพ้สารทึบรังสีมาก่อนแต่อย่างไรก็ตาม แม้มีอาการแพ้เกิดขึ้นในขณะตรวจ แพทย์ก็สามารถให้การรักษาด้วยยาแก้แพ้ชนิดฉีดเข้าเส้นได้ อย่างปลอดภัย
- ไตทำงานน้อยลงชั่วคราว เป็นผลจากสารทึบรังสีที่ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ซึ่งผู้ที่เข้ารับการตรวจด้วยวิธีนี้จะต้องเจาะเลือดดูการทำงานของไตก่อนตรวจทุกราย ถ้ามีโรคไตบกพร่องอยู่เดิมถือเป็นข้อห้ามในการตรวจ
- อาการข้างเคียงจากยา ในบางครั้งถ้าหัวใจเต้นเร็วเกิน 70 ครั้งต่อนาที แพทย์จะให้ยาที่ทำให้หัวใจเต้นช้าลง หรือในบางกรณี ก็จะใช้ยาพ่นขยายเส้นเลือดหัวใจ ก่อนตรวจแสกน อาจมีอาการข้างเคียงหรือแพ้ยาได้ แต่พบน้อยมาก
- ได้รับรังสีเอกซเรย์ แต่เนื่องจากเครื่องรุ่นใหม่มีการพัฒนาที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ใช้เวลาในการแสกนภาพที่สั้นลง ปริมาณรังสีที่อาจได้รับจึงมีปริมาณน้อยลงมาก
การเตรียมตัวก่อนการตรวจ
- ดื่มน้ำมากๆในวันก่อนมาตรวจ
- งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนทำการตรวจ
- ทานยาควบคุมจังหวะการเต้นหัวใจ (ตามที่แพทย์สั่ง) ก่อนทำการตรวจ
การปฏิบัติตัวระหว่างการตรวจ
- หลังแพทย์พิจารณาผู้ป่วยมีอัตราการเต้นของหัวใจที่เหมาะสมแล้วจะเริ่ม
- พยาบาลจะทำการแทงเส้นเลือดที่แขนเพื่อเตรียมให้สารทึบแสง
- เจ้าหน้าที่จะให้กลั้นหายใจ เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัด โดยทั่วไปครั้งละไม่เกิน 12 วินาที
- แสกนตรวจหาปริมาณแคลเซียมที่เกาะหลอดเลือดแดงหัวใจ
- เจ้าหน้าที่จะเริ่มฉีดสารทึบแสงจากนั้นแสกนซ้ำเพื่อตรวจดูหลอดเลือดหัวใจ
- โดยทั่วไปใช้เวลารวมประมาณ 15-60 นาที ขึ้นกับอัตราการเต้นของหัวใจผู้ป่วย
- ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นในระหว่างที่ทำการตรวจ ผู้ป่วยสามารถบอกเจ้าหน้าที่ได้ทันที เนื่องจากมีไมโครโฟนติดอยู่ที่ตัวเครื่อง
การปฏิบัติตัวหลังการตรวจ
- ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ตามปกติ
- ไม่จำเป็นต้องพักฟื้น หรือนอนโรงพยาบาลหลังการตรวจ
New Technology:
การตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (multi-detector CT, MDCT) 320- slice Multi-detector CT Scan
ได้รับการพัฒนาจากเครื่อง 64-slice CT Scan ที่ถูกนำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดตีบตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งถือว่าเป็นเอกซเรย์คอมพิวเตอร์รุ่นแรกๆ มีปัญหาในแง่รายละเอียดของข้อมูลที่ไม่เพียงพอในการนำมาสร้างรูปภาพ ทำให้มีข้อจำกัดในการแปลผล ปัจจุบันเทคโนโลยีได้ก้าวล้ำนำหน้าไปอีกด้วยนวัตกรรมใหม่ของเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถทำการตรวจและถ่ายภาพหลอดเลือดหัวใจได้อย่างรวดเร็ว และภาพที่ได้มีความละเอียดชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ประสิทธิภาพของการตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วย 320- slice Multi-detector CT Scan
- สามารถตรวจหาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ในผู้ป่วยที่มีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วกว่า 70 ครั้งต่อนาที
- ใช้เวลาในการตรวจสั้นกว่าเครื่อง 64-slice CT Scan อีกทั้งการหมุนของเครื่องสแกนต่อรอบกินเวลาเพียง 0.27 วินาที ทำให้ผู้ป่วยได้รับรังสีเอกซเรย์ในการตรวจวินิจฉัยโรคน้อยลงถึง 80%
- เครื่อง นี้ยังมีข้อดีกว่าคือภาพผลการตรวจที่คมชัดกว่าครอบคลุมอาณาบริเวณของอวัยวะ ที่ต้องการตรวจมากกว่ามีความแม่นยำสูง ช่วยให้แทพย์สามารถวางแผนการรักาษได้ถูกต้องและรวดเร็ว และแสดงภาพอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เช่นหัวใจให้ภาพที่มีความละเอียดสูงจนสามารถใช้ตรวจดูภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ
- สามารถตรวจปริมาณการสะสมของหินปูนในผนังหลอดเลือด และความผิดปกติของหลอดเลือดได้ในคราวเดียวกัน
- ให้ผลเบื้องต้นที่รวดเร็วกว่า เนื่องจากใช้เวลาในการตรวจน้อยกว่า ทั้งนี้ข้อมูลจากการตรวจจะได้รับการแปลผลโดยรังสีแพทย์และอายุรแพทย์โรคหัวใจ ทำให้ทราบผลได้เร็วขึ้น
- ลดความเสี่ยงเนื่องจากไม่ต้องใส่สายสวนผ่านหลอดเลือดแดงในการตรวจ
|